วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การจำหน่ายพัสดุ

ข้อมูลนำมาจาก เว็บไซด์กรมพลาธิการทหารเรือ http://www.navy.mi.th/supply/material/out.html

กล่าวทั่วไป

การจำหน่ายพัสดุออกจากบัญชีนับเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวงรอบการส่งกำลัง ซึ่งมีความสำคัญและความสัมพันธ์กับขั้นตอนอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นอย่างมาก การจำหน่ายพัสดุในปัจจุบันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานส่วนมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบตลอดจนคุณภาพของสินค้าในท้องตลาดอย่างรวดเร็ว ทำให้พัสดุต่าง ๆ กลายเป็นพัสดุล้าสมัย หลังจากใช้ได้ไม่นาน นอกจากนี้มีพัสดุที่มีความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ในการจัดเก็บรักษาและบำรุงรักษา การจำหน่ายพัสดุเหล่านี้ออกจากบัญชีโดยการ ขาย โอน แลกเปลี่ยน แปรสภาพหรือทำลาย สามารถทำให้หน่วยงานหมุนเวียนพัสดุใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามา ใช้ได้ทันกับความต้องการอยู่เสมอ

ความหมาย

การจำหน่ายพัสดุ หมายความถึง การตัดยอดพัสดุ (วัสดุหรือครุภัณฑ์) ออกจากบัญชีคุม โดยดำเนินการปลดพัสดุในความครอบครองของส่วนราชการนั้นออกจากความรับผิดชอบ ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ขาย โอน แลกเปลี่ยน แปรสภาพหรือทำลาย โดยทั่วไปแล้วการจำหน่ายพัสดุมักจะหมายถึงการ จำหน่ายครุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างคงทนถาวร สำหรับวัสดุถ้าหากไม่ได้ใช้หมดเปลืองไปตามลักษณะของการใช้งานหรือพัสดุที่มี อายุหากหมดอายุก็ต้องจำหน่ายด้วย

มูลเหตุของการจำหน่าย

การจำหน่ายพัสดุมีมูลเหตุที่เกี่ยวกับการบริหารพัสดุในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งตามวงรอบการส่งกำลังคือ
  1. เนื่องจากการกำหนดความต้องการ ได้แก่ การวางแผนในการกำหนดความต้องการไม่ดีพอ ทำให้มีพัสดุบางรายการมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจเกิดจากข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการประมวลความต้องการเป็นข้อมูลที่คลาดเคลือน หรือไม่ สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ถึงการเปลี่ยนแปลงความต้องการของหน่วยผู้ใช้ในทาง ลดลง
  2. เนื่องจากการจัดหา ได้แก่การจัดหาไม่ได้ผลดี ซึ่งอาจเกิดจาาการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะไม่เหมาะสมกับการใช้งาน หรือการจัดซื้อจัดหาที่ไม่ถูกต้องตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ หรือมีการตรวจรับพัสดุไม่ตรงตามที่จัดซื้อจัดจ้าง
  3. เนื่องจากการเก็บ รักษาหรือการแจกจ่าย ได้แก่ มีการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือเหมาะสมกับสภาพของพัสด ไม่มีการหมุนเวียนการจ่ายหรือไม่มีมาตรการการควบคุมพัสดุที่ดี ทำให้พัสดุเกิดการชำรุดเสื่อมสภาพจนใช้ราชการไม่ได้หรือสูญหาย หรืออาจเกิดการชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งกับคลังต่าง ๆ หรือหน่วยผู้ใช้ หรืออาจสูญไปตามธรรมชาติ หรือสูญไปเพราะภัยธรรมชาติ
  4. เนื่อง จากการซ่อมบำรุง ได้แก่ การใช้พัสดุโดยไม่มีการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง หรือเป็นพัสดุที่ใช้ราชการมานานทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือชำรุด จนไม่สามารถซ่อมทำให้ใช้ราชการได้ หรือไม่คุ้มค่าในการซ่อมทำจะเห็นได้ว่าการจำหน่ายพัสดุเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงานอื่น ๆ ในวงจรการเบิกพัสดุ มูลเหตุของการจำหน่ายนั่นเมื่อพิจารณาแล้ว จะเข้าอยู่ในขั้นตอนใดตอนหนึ่งของวงจรเสมอ นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีกเช่น มีเศษวัสดุที่เหลือจากการใช้งาน ได้แก่ เศษเหล็ก ตะปู เศษไม้ที่เหลือจากการใช้งาน ฯลฯ 
ประโยชน์ของการจำหน่าย

  1. ปลดเปลื้องความรับผิดชอบพัสดุออกจากบัญชีคุม พัสดุชนิดใดที่ชำรุด และไม่สามารถใช้ราชการได้ แต่ยังมิได้ดำเนินการจำหน่ายบัญชี พัสดุนั้นถือว่ายังอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยครอบครอง (ผู้ใช้) พัสดุนั้นอยู่ แต่ถ้าพัสดุนั้นได้รับการจำหน่ายบัญชีแล้ว ผู้ควบคุมบัญชีพัสดุนั้นจะได้รับประโยชน์โดยตรงคือไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่า เสียหาย อันเกิดจากการสูญหายของพัสดุหรือในกรณีอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  2. ไม่ต้องเสียสถานที่ในการเก็บรักษา ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา เช่น คลังต่าง ๆ ที่มีพัสดุเก่า ๆ ที่ล้าสมัยเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก หากดำเนินการจำหน่ายและระบายพัสดุนั้นออกจากคลังไปได้ จะทำให้มีสถานที่ สำหรับเก็บรักษาพัสดุใหม่อื่น ๆ ที่ทันสมัยกว่าได้มาก
  3. มีโอกาสจัดหา พัสดุชนิดเดียวกันแต่ได้แบบที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ในการใช้ประโยชน์มากกว่าพัสดุชนิดเดิม เช่น เครื่องคำนวณเลขชนิดมือหมุนมีประสิทธิภาพในการใช้น้อยกว่าเครื่องคำนวณเลขใฟ ฟ้า
  4. ได้รายได้จากการขายพัสดุที่จำหน่ายแล้ว หมายถึง ภายหลังจากการจำหน่ายพัสดุแล้วพัสดุรายการใดที่ชำรุดมากจนไม่สมควรนำมาซ่อม ทำเพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานอื่นได้ จะดำเนินการขายต่อไป ซึ่งบังเกิดผลดีกว่าเก็บของเก่าและใช้ประโยชน์อย่างใดไม่ได้
  5. สามารถ นำพัสดุที่หน่วยอื่นหมดความจำเป็น ซึ่งดำเนินการจำหน่ายบัญชีและดำเนินการส่งคืนมาดำเนินการซ่อมทำเพื่อนำไปใช้ กับหน่วยอื่นที่ยังมีความต้องการอยู่
ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การจำหน่ายบัญชีพัสดุของส่วนราชการใน ทร. ปัจจุบันต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งเป็นหลักในการดำเนินการดังนี้
  1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัดสุ พ.ศ.๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  2. ระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  3. คำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๙/๓๙ เรื่องการพัสดุ
  4. ข้อบังคับทหารว่าด้วยการขายพัสดุของหลวง พ.ศ.๒๔๙๐
  5. ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ.๒๕๒๘ (ขกง.๒๘)
  6. คำสั่ง ทร.ที่ ๑๑๔/๒๕๔๑ ลง ๒๑ ก.ค.๔๑ เรื่องการมอบอำนาจสั่งการและทำการแทนใน ผบ.ทร.
  7. ข้อ บังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติเมื่อเกิดความเสียหายแก่เงินราชการหรือทรัพย์สินของทาง ราชการอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๔๒ (ขกล.๔๒)
วิธีการจำหน่าย

วิธีการจำหน่ายพัสดุมี ๒ วิธี คือ
  1. การจำหน่ายพัสดุแบบมีซาก หมายถึง การจำหน่ายพัสดุที่ชำรุดเสื่อมสภาพ หรือไม่จำเป็นต้องใช้ราชการต่อไปหรือหากใช้ราชการต่อไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก โดยสามารถนำซาก หรือตัวพัสดุมาดำเนินการขาย แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพ หรือทำลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามระเบียบสำนักงายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๕๗
  2. การจำหน่ายพัสดุเป็นสูญ หมายถึง การจำหน่ายพัสดุที่สูญไปโดยไม่ปรากฏตัวผู้รับผิด หรือมีตัวผู้รับผิดแต่ไม่สามารถชดใช้ได้ หรือมีตัวพัสดุอยู่แต่ไม่สมควรดำเนินการขาย แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพหรือทำลาย
การดำเนินการจำหน่ายพัสดุ มีลักษณะการดำเนินการที่หน่วยต้องกระทำ ๒ วิธี
  1. การ จำหน่ายพัสดุภายหลังจากการตรวจสอบพัสดุประจำปีของหน่วยงานที่มีพัสดุไว้จ่าย การจำหน่ายวิธีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบพัสดุประจำปีโดยหัวหน้า ส่วนราชการของหน่วยจ่ายพัสดุ จะต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพัสดุประจำปี เพื่อตรวจสอบพัสดุตามคลังต่าง ๆ ภายหลังการตรวจ หากเจ้าหน้าที่พบว่าพัสดุรายการใดคงเหลือไม่ตรงตามบัญชี ชำรุด สูญหาย หรือพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะนำไปใช้ราชการอีกต่อไป เจ้าหน้าที่จะเสนอรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ หลังจากนั้นหัวหน้าส่วนราชการจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาเสนอขออนุมัติจำหน่ายบัญชี หรือดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
  2. การ จำหน่ายพัสดุระหว่างปี การจำหน่ายในวิธีนี้สำหรับใช้กับพัสดุของทางราชการที่ชำรุดเสื่อมสภาพหรือ สูญหายไป ก่อนมีการตรวจสอบพัสดุประจำปีของหน่วยงานที่มีพัสดุไว้จ่าย หรือ หน่วยผู้ใช้พัสดุต้องการจำหน่ายพัสดุที่ชำรุดเสื่อมสภาพออกจากบัญชี แต่ส่วนมากการจำหน่ายพัสดุด้วยวิธีนี้มักจะเกี่ยวข้องกับหน่วยผู้ใช้พัสดุ เสียเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากหน่วยผู้ใช้ ต้องการพัสดุที่มีสภาพใช้งานได้ดีมาใช้ราชการได้ทันเพื่อทดแทนพัสดุที่ชำรุด
ขั้นตอนการปฏิบัติกับการดำเนินการจำหน่ายพัสดุระหว่างปีหน่ายราชการใน ทร. มีวิธีการปฏิบัติพอสรุปขั้นตอนได้ดังนี้
  1. หน่วย ที่มีพัสดุใช้งานเสนอรายงานการชำรุด และขอจำหน่ายบัญชีไปยังผู้บังคับบัญชาระดับ กรม กองเรือ และแนบใบรายการซ่อมทำ (ถ้ามี) โดยชี้แจงรายละเอียดดังนี้
    • ชนิด ตราอักษร หมายเลขเครื่อง หมายเลขทะเบียนครุภัณฑ์ (ถ้าเป็นครุภัณฑ์) ของพัสดุ
    • อายุการใช้งาน
    • สภาพของพัสดุที่ชำรุดโดยทั่วไป และสาเหตุของการชำรุด
    • จำนวนครั้งที่ซ่อมทำ
  2. เมื่อ หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม (ผบ.กองเรือ) ได้รับรายงานแล้วจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงขึ้นคณะหนึ่งประกอบ ด้วย ประธานกรรมการ ๑ คน กรรมการอย่างน้อย ๒ คน โดยแต่งตั้งจากข้าราชการชั้นสัญญาบัตร หรือผู้ที่ทางราชการสั่งให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตร
  3. คณะ กรรมการสอบหาข้อเท็จจริง พิจารณาสาเหตุของการชำรุด ถ้าปรากฏว่ามีผู้รับผิดชอบ ให้คณะกรรมการเสนอหัวหน้าส่วนราชการทราบเพื่อเสนอ ทร. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางละเมิดต่อไป หากผลการพิจารณาเห็นว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ให้ส่วนราชการเสนอรายงานไปยังหน่วยเทคนิคที่รับผิดชอบพัสดุนั้นอยู่ทั้ง ๑๐ หน่วย และหน่วยที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยเทคนิค ศกล., กบร. สำหรับพัสดุอากาศยานตามระเบียบ ทร.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาพัสดุที่ต้องการจำหน่ายอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยเทคนิคใด ก็ให้เสนอรายงานไปยังหน่วยเทคนิคที่ควบคุมพัสดุรายการนั้น อนึ่งการส่งรายงานการขออนุมัติจำหน่าย ให้หน่วยแนบหลักฐานพร้อมไปด้วย ดังนี้
    • บันทึกรายงานจำหน่ายบัญชีของหน่วยผู้ใช้
    • คำสั่งหัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง
    • รายงานการสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามข้อ ๓.๒
    • ใบรายงานการซ่อมทำ (ถ้ามี)
    • สำเนาทะเบียนครุภัณฑ์
  4. เมื่อ หน่วยเทคนิคที่ควบคุมพัสดุในความรับผิดชอบ ได้รับรายงานพร้อมหลักฐานตามข้อ ๓.๑ ถึง ๓.๕ แล้ว จะพิจารณาดำเนินการตรวจสอบหลักฐานหากมีความเหมาะสมและอยู่ในอำนาจหน่วย เทคนิค จะอนุมัติให้จำหน่ายบัญชีได้และแจ้งให้หน่วยที่เสนอรายงานทราบเพื่อดำเนิน การตามข้อ ๔. หากไม่อยู่ในอำนาจจะเสนอ ทร. ต่อไป
  5. หน่วยผู้ใช้ พัสดุได้รับทราบการจำหน่ายบัญชีแล้ว หากเป็นการจำหน่ายบัญชีที่มีซากพัสดุเหลืออยู่ ให้หน่วยผู้ใช้ส่งคืนพร้อมใบส่งคืนไปยังหน่วยรวบรวมพัสดุใช้แล้ว เช่น พัสดุสายพลาธิการ มีสถานที่ส่งคืนคลัง ๖ (คลังพัสดุชำรุด) กคพธ.พธ.ทร. เป็นต้น หลังจากนั้นจึงลงจ่ายออกจากบัญชีของหน่วย โดยหน่วยเทคนิคจะดำเนินการขาย โอน แลกเปลี่ยน แปรสภาพ หรือ ทำลายตามความเหมาะสมต่อไปด้วยดังนี้
    • บันทึกรายงานจำหน่ายบัญชีของหน่วยผู้ใช้
    • คำสั่งหัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจรอง
    • รายงานการสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามข้อ ๓.๒
    • ใบรายงานการซ่อมทำ (ถ้ามี)
    • สำเนาทะเบียนครุภัณฑ์
  1. เมื่อ หน่วยเทคนิคที่ควบคุมพัสดุในความรับผิดชอบ ได้รับรายงานพร้อมหลักฐานตามข้อ ๓.๑ ถึง ๓.๕ แล้ว จะพิจารณาดำเนินการตรวจสอบหลักฐานหากมีความเหมาะสมหากอยู่ในอำนาจหน่วย เทคนิค จะอนุมัติให้จำหน่ายบัญชีได้และแจ้งให้หน่วยที่เสนอรายงานทราบเพื่อดำเนิน การตามข้อ ๔. หากไม่อยู่ในอำนาจจะเสนอ ทร. ต่อไป
  2. หน่วยผู้ใช้ พัสดุได้รับทราบการจำหน่ายบัญชีแล้ว หากเป็นการจำหน่ายบัญชีที่มีซากพัสดุเหลืออยู่ ให้หน่วยผู้ใช้ส่งคืนพร้อมใบส่งคืนไปยังหน่วยรวบรวมพัสดุใช้แล้ว เช่น พัสดุสายพลาธิการ มีสถานที่ส่งคืนคลัง ๖ (คลังพัสดุชำรุด) กคพธ.พธ.ทร. เป็นต้น หลังจากนั้นจึงลงจ่ายออกจากบัญชีของหน่วย โดยหน่วยเทคนิคจะดำเนินการขาย โอน แลกเปลี่ยน แปรสภาพ หรือ ทำลายตามความเหมาะสมต่อไป
การจำหน่ายพัสดุที่ได้รับความช่วยเหลือจาก อม. 


พัสดุที่ได้รับความช่วยเหลือจาก อม. หมายถึง พัสดุทุกประเภทรายการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนในรูปของการช่วยเหลือ แบบให้เช่า (GRANT AID) เช่นเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ รถ เรือ อากาศยาน สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อหน่วยผู้ครอบครองพัสดุใช้ พัสดุดังกล่าวจนชำรุด และไม่สามารถซ่อมทำให้ใช้ราชการได้อีกหรือไม่ปลอดภัยในการใช้อีกต่อไป หรือเกินความต้องการซึ่งจะต้องจำหน่ายออกจากบัญชี ให้หน่วยผู้ครอบครองพัสดุดำเนินการจำหน่ายบัญชีเหมือนกับการจำหน่ายบัญชี พัสดุระหว่างปีที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่มีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งคือ ภายหลังที่มีผู้มีอำนาจจำหน่ายพัสดุ (อาจเป็น ทร.หรือหน่วยเทคนิค ขึ้นอยู่กับวงเงินอนุมัติ ) อนุมัติให้จำหน่ายบัญชีแล้ว ให้หน่วยผู้ครอบครองพัสดุเก็บรักษาพัสดุนั้นไว้ก่อนและรายงานให้ พธ.ทร. ทราบเพื่อ พธ.ทร. (กองการพัสดุทางทหารต่างประเทศ ฯ) จะดำเนินการแจ้งให้ ทร.อม. จัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการกับพัสดุนั้นต่อไป

การดำเนินการของหน่วยเทคนิคเมื่ออนุมัติจำหน่ายบัญชีแล้ว


  1. แจ้งการอนุมัติจำหน่าย ให้กระทรวงการคลัง, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคแล้วแต่ กรณีทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันลงจ่ายพัสดุนั้น
  2. การขาย ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ รวมทั้งข้อบังคับทหารว่าด้วยการขายพัสดุของหลวง พ.ศ.๒๔๙๐
  3. การแลกเปลี่ยน ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ส่วนที่ ๕ ข้อ ๑๒๓
  4. การโอน ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕
  5. การแปรสภาพหรือทำลาย เป็นไปตามที่หน่วยเทคนิคกำหนด ดังนี้
  • การแปรสภาพ หมายถึง การกระทำต่อสิ่งอุปกรณ์โดยการดัดแปลง, ยุบรวม, ถอดเป็นชิ้นส่วนอะไหล่โดยที่ไม่มีสภาพของสิงอุปกรณ์เดิมเหลืออยู่
  • การ ทำลาย หมายถึง การกระทำต่อสิ่งอุปกรณ์ที่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สิน หรือเป็นสิ่งไร้ค่า เมื่อได้รับอนุมัติให้จำหน่ายแล้วไม่สามารถนำไปขาย โอน แลกเปลี่ยนได้ โดยการกระทำให้สิ้นสภาพด้วยการทำลายให้สูญไปหรือทำลายโดยมีซาก ซึ่งกระทำโดยวิธีเผา ฝังดิน หรือทำลายไม่ให้คงรูปเดิม ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นควบคุมการทำลายไม่น้อยกว่า ๓ นาย 
 ปัญหาของการจำหน่าย

ปัญหาของการจำหน่ายพัสดุใน ทร. ปัญหาของการจำหน่ายพัสดุใน ทร. ในปัจจุบัน จะสรุปในประเด็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
  1. ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ทราบ ซึ่งเกี่ยวข้องกันทั้งผู้ใช้พัสดุกับผู้ครอบครองพัสดุ กล่าวคือ
    ทางด้านผู้ใช้
    • ผู้ ใช้หลายหน่วยไม่ทราบว่าหน่วยงานใดใน ทร.มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจำหน่ายพัสดุ หรือไม่ทราบว่าพัสดุที่ชำรุดอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยเทคนิคใด ตามระเบียบ กองทัพเรือ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๘
    • ไม่ทราบว่าค่าใช้ จ่ายที่มองไม่เป็น อันเนื่องมาจากการไม่จำหน่ายพัสดุที่ควรจำหน่าย แล้วเป็นเท่าใด เช่น ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาพัสดุสิ้นเปลืองที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายแอบแฝงจากการชะงักของงานเนื่องจากการซ่อมบ่อย ๆ เป็นต้น
    • มี การสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ผู้ใช้ หรือผู้รับผิดชอบ ทำให้ไม่ทราบว่าพัสดุทั้งหมดมีเท่าใด มีสิ่งใดสูญหายไปบ้าง และสูญหายหรือชำรุดเสียหายเมื่อใด
    ทางด้านผู้ครอบครอง
    • ได้แก่หน่วยที่มีพัสดุไว้จ่ายไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างใดกับพัสดุที่จะจำหน่าย เช่น พัสดุที่เสื่อมสภาพ
    • ไม่ เข้าใจระเบียบปฏิบัติ หรือระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำหน่ายได้ง่าย ๆ หรือบางทีทราบระเบียบและทราบว่าผู้ใดมีหน้าที่อย่างไรแต่เกรงว่าหากรายงาน แล้วตนเองหรือผู้ร่วมงานจะต้องถูกสอบสวน ฯลฯ
  2. ปัญหาเกี่ยวกับระบบการหริหารงานพัสดุ
    การ บริหารงานพัสดุของหน่วยงาน ทร.ส่วนใหญ่เนื่องจากยังให้ความสำคัญของการบริหารพัสดุน้อย เช่น ไม่มีการเก็บข้อมูลของพัสดุที่ บางหน่วยงานไม่ทราบว่าพัสดุที่ใช้อยู่ได้มาจากเงินงบประมาณหรือเงินของหน่วย เอง ได้มาใช้งานตั้งแต่เมื่อใด ไม่ทราบราคาซื้อหรือได้มา เป็นต้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากการควบคุมพัสดุทางบัญชีทำให้จำหน่ายไม่ได้ หรือไม่กล้าดำเนินการจำหน่าย
  3. ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ประสานหรือสอดคล้อง
    ระหว่าง การจำหน่ายกับการกำหนดงบประมาณยอดครุภัณฑ์เพื่อขอรับการสนับสนุนทดแทน หน่วยผู้ใช้ที่เสนอขออนุมัติจำหน่ายพัสดุเมื่อได้มีการจำหน่ายบัญชีแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทดแทนเพื่อนำพัสดุไปใช้ราชการได้ทัน เนื่องจากครุภัณฑ์ส่วนใหญ่มีราคาสูง โดยปกติจะไม่จัดหาไว้สำรองคลัง ดังนั้นจึงต้องรวบรวมจำนวนและของบประมาณเพื่อจัดหาเป็นคราว ๆ ไป ทำให้ล่าช้าเสียเวลาได้พัสดุไม่ทันใช้ราชการ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอให้มีความสุขในวันนี้
    ฉันชื่อฟิลิปฉันต้องการลงทุนในธุรกิจของคุณโดยสุจริตฉันมีการลงทุนที่ทำกำไรฉันยังเสนอสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่อส่วนบุคคลในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 3% ต่อปีเป็นระยะเวลาหนึ่ง ปีแห่งการชำระหนี้เป็นส่วนหนึ่งของโลก

    คุณต้องการเครดิตดอกเบี้ยรายปี 3% จากจำนวนเงินทั้งหมดที่คุณต้องใช้ในการจัดหาเงินทุนหรือการเป็นหุ้นส่วนหุ้น 50/50% เป็นระยะเวลา 1 ถึง 10 ปีหรือไม่? ฉันต้องการทราบตัวเลือกของคุณเพื่อให้เราสามารถดำเนินการเจรจาต่อไปได้จำนวนเงินสูงสุดคือ $ 100million USD
    อีเมลติดต่อ: info@voorhinvestcorp.com
    URL ของเว็บไซต์: http://voorhinvestcorp.com/
    WhatsApp: +1 4704068043
    LINE ID: philipvoor
    อีเมล: voorheesphilip@gmail.com
    ขอบคุณ
    VOORHEES PHILIP

    ตอบลบ